จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สมาธิคืออะไรกันนะ

สมาธิ


    สมาธิคืออะไร

      การอธิบายความหมายของสมาธิ สามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงลักษณะผลของสมาธิที่เกิดขึ้น และอธิบายในลักษณะในเชิงการปฏิบัติ เช่น สมาธิ คือ ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ

        สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา เป็นอาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติในเวลาเดียวกัน

          สมาธิ ที่มีการสอนในโลกนี้สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภท ตามหลักปฏิบัติ วิธีการ หรืออื่นๆมากมาย ในเบื้องต้นนี้ สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้ คือ
 
1.สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นในจิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ถูกต้อง
2.มิจฉาสมาธิ คือ การตั้งมั่นในจิตที่ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ไม่เกิดประโยชน์

     ประเภทของสมาธิจำแนกตามการวางใจ

    สมาธิสามารถจำแนกได้ตามวิธีการกำหนดวางที่ตั้งของใจ หรือแบ่งตามที่ตั้งของใจในขณะที่เจริญสมาธิ ได้ 3ประเภท ดังนี้ คือ
1. ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย
2. ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
3. ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย

    1.ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย

    วิธีส่งจิตหรือใจออกข้างนอก เป็นวิธีที่ส่วนใหญ่ในโลกนี้ได้ใช้ฝึกกัน คือ เอาใจส่งออกไปข้างนอกกาย เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย เนื่องจากปกติคนส่วนใหญ่มักมีนิสัยชอบมองไปข้างนอก ดังนั้นการส่งจิตออกไปข้างนอกจึงสบาย ง่าย และทำได้กันเกือบจะทุกคน แต่ข้อเสียก็มี คือ จะมีภาพนิมิตลวงเกิดขึ้นมา เป็นนิมิตเลื่อนลอยไม่ใช่ของจริงเกิดขึ้น
 
    บางนิมิตก็น่าเพลิดเพลิน บางนิมิตเห็นแล้วก็น่าสะดุ้งหวาดเสียว ถ้าหากว่าได้ครูที่ไม่ชำนาญ ไม่มีประสบการณ์เป็นผู้แนะนำ จะทำให้จิตออกไปข้างนอก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้ยินบ่อยครั้งว่า การปฏิบัติธรรมฝึกจิตเป็นเหตุให้เป็นบ้า ซึ่งที่จริงเกิดจากการวางใจไว้ผิดที่ โดยเอาออกไปสู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจึงผิดมากกว่าถูก
 
    เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ฝึกจิตด้วยวิธีการแบบนี้ ไม่ใช่ทางสู่ความพ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงสรณะ เข้าไม่ถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในตัว และเป็นโอกาสให้หลงตัวเอง พลาดพลั้ง และเดินผิดทางได้

     2.ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

    ประเภทนี้ เป็นการเอาใจมาไว้ข้างใน หรือคือการเอาความรู้สึกอยู่ภายใน แล้วก็หยุดนิ่งเฉยๆลอยๆ อยู่ภายในตัวของเราตามฐานต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่บริเวณทรวงอก แล้วหยุดนิ่งสงบ มีความเย็นกายเย็นใจเกิดขึ้น มีสติ มีปัญญา มีความรู้รอบตัวเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งการปฏิบัติด้วยวิธีที่สองนี้มีอยู่น้อยในโลก
 
    วิธีอย่างนี้ยังถือว่าถูกมากกว่าผิด เช่น ถ้าจิตฝึกฝนด้วยการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ปล่อยให้สงบนิ่งอยู่ภายในตัว จะทำให้รู้สึกมีความสุขอยู่ภายใน และการทำสมาธิแบบนี้จะทำให้มีความรู้สึกว่าเราไม่ติดอะไรเลย ไม่ยินดียินร้าย ปล่อยวางสงบ สว่างเย็น อยู่เฉยๆ อยู่ภายใน จะไม่ค่อยมีนิมิตเลื่อนลอยเกิดขึ้น เพราะว่าปล่อยวางหมด เอาแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างเดียว ใจสงบเย็น ความรู้ต่างๆก็เกิดขึ้นกว้างขวางกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังเข้าไปไม่ถึงการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จึงยังไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ หรือหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

     3.ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย

    ประเภทนี้ เป็นการฝึกใจโดยการเอาใจมาหยุดนิ่งภายในกลางกาย หรืออยู่ที่ตรงฐานที่เจ็ด หยุดจนกระทั่งถูกส่วน แล้วเห็นปฐมมรรคเกิดขึ้นมาเป็นดวงสว่าง ได้ดำเนินจิตเข้าไปในทางนั้น กลางของกลางปรากฏการณ์นั้น เข้าไปเรื่อยๆ โดยเอามรรคมีองค์แปด ขึ้นมาเป็นเครื่องปฏิบัติ

ที่ตั้งจิตทั้ง 7 ฐาน


       สำหรับการฝึกแต่ละประเภทจะมีความยากแตกต่างกันไป ลองฝึกปฏิบัติกันดูจึงจะเห็นผล ผมเองกำลังเริ่มฝึก จะบันทึกความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ นะ

เครดิตร :dmc

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

โทษของการผิดศีล 5 ข้อ 2

ศีลข้อ 2 คือ ห้ามลักทรัพย์
     ห้ามลักทรัพย์ คือ การแย่งของที่ไม่ใช่ของตนหรือการกระทำโดยทรุจริตเพื่อให้ได้ของนั้นมาเป็นของตน เมื่อเราทำผิดศีลข้อ 2 นี้จะเกิดโทษขึ้นต่อเราทันทีในชาตินี้ดังนี้
       1) จิตเราจะหดหู่ไม่เป็นสุข
       2) จิตใจอ่อนแอลง
       3) อยู่ไม่เป็นสุข



     
       1) จิตหดหู่
       เมื่อไรก็ตามที่เราคิดเรื่องไม่ดีหรือกระทำเรื่องไม่ดี ลึกๆในใจเราจะรู้สึกผิดอยู่เสมอเป็นปกติของสามัญสำนึก เมื่อเราคิดที่จะขโมยจิตเราจะเริ่มกังวลถึง ผลที่จะตามมา วิธีการปกปิดความลับ วิธีการที่จะขโมย และหลังจากที่เราลงมืขโมยไปแล้ว จิตเราจะกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกจับได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีข้ออ้างว่าทำเพราะความจำเป็น แต่ลึกๆในใจก็คงกังวลอยู่ตลอดเวลา

       2) จิตใจอ่อนแอลง
        เมื่อเริ่มคิดหรือลงมือขโมยครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อๆไป เกิดขึ้นเนื่องจากจิตใจที่อ่อนแอลงของเราจะพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนตนเองว่าทำถูกต้องแล้วต้องทำเพราะความจำเป็น และเมื่อเราลงมือทำผิดบ่อยครั้งขึ้น จิตใจเราก็จะค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือสามัญสำนึกของความเป็นคนแบบปกติ ตอนแรกอาจทำเพราะจำเป็นแต่เมื่อทำบ่อยๆครั้งเข้าความโลภจะบังตาจะคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรให้ได้ของนั้นมาถึงแม้ของนั้นจะไม่ใช่ของเรา เมื่อมาถึงจุดนี้เราจะไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้ขโมยได้อีกต่อไป

      3) อยู่ไม่เป็นสุข
         เห็นได้ชัดว่าเมื่อเราขโมย หรือคิดที่จะขโมย เราจะต้องดิ้นรนเพื่อ หาวิธีขโขมยหรือหาวิธีปกปิดความผิด นั่นทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเป็นสุขปกติได้ ต้องคิดวางแผน ระวัง ระแวงอยู่ตลอดเวลา

         สำหรับโทษของการผิดศีลข้อ 2 หลังจากตายไปแล้วนั้น โดยส่วนตัวผมไม่รู้แน่ชัด แต่โดยหลักความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม แน่นอนเราจะตก นรก เพื่อไปชดใช้กรรมให้กับเจ้ากรรมนายเวร เพราะการขโมยและแย่งของที่ไม่ใช่ของเรามานั้นเป็นการสร้างความผูกพยาบาทจากเจ้าของของสิ่งนั้นมาสู่เรา

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สร้างกุศลด้วยบุญกิริยาวัตถุ ตอน 1

บุญกิริยาวัตถุมี 2 หมวดครับ คือ  บุญกิริยาวัตถุ3 กับ บุญกิริยาวัตถุ10
     บุญกิริยาวัตถุ 3 หมายถึง การทำบุญ หรือ การทำความดี ซึ่งมีหลักการ 3 ประการ คือ 1. การให้ทาน 2. การรักษาศีล 3. การเจริญภาวนา
     บุญกิริยาวัตถุ 3 เป็นหลักแห่งการทำบุญ หรือหลักแห่งการทำความดี ที่เยาวชน พึงนำมาใช้ในวิถีชีวิต ประกอบด้วย
     1. การให้ทาน ได้แก่ อามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน เป็นการทำบุญ หรือ ทำความดี ที่สามารถลดความตระหนี่ หรือ เห็นแก่ตัวลงได้ ด้วยการเสียสละแบ่งปัน เกื้อกูล ผู้อื่นด้วยความเมตตา
     2. การรักษาศีล เป็นการประพฤติตนให้เรียบร้อยทางกาย วาจา ด้วยการปฏิบัติตามศีล 5 ข้อ ให้เป็นวิถีชีวิต เมื่อรักษาศีลให้สมบูรณ์แล้ว
     3. การเจริญภาวนา เป็นการพัฒนาตนเอง ด้วยการฝึกจิตใจให้อยู่ด้วยการมีสติ มีสมาธิ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร รู้จักคิดพิจารณา รู้จักผิดชอบชั่วดี
    สำหรับ บุญกิริยาวัตถุ3 กับ บุญกิริยาวัตถุ10 ก็ไม่ต่างกันหรอกครับ แค่แจกแจงรายละเอียดออกมามากน้อยต่างกัน
……………………………………………………………………………
    บุญกิริยาวัตถุ 3 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, เรื่องที่จัดเป็นการทำความดี, หลักการทำความดี, ทางทำความดี)
  1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
  2. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย 
  3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ
……………………………………………………………………………
    บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี )
  1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ)
  2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี)
  3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ)
  4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม)
  5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ )
  6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น)
  7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น )
  8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้)
  9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ )
  10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง)
ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

โทษของการผิดศีล 5 ข้อ 1

ศีลข้อ ที่ 1 ปาณาติปาตาเวรมณี
      เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ถ้าไม่เว้นย่อมยังสัตว์ให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานในเปรตวิสัย
     การฆ่า คือ กรรม เมื่อสร้างเหตุปัจจัยไว้อย่างไร ผลของการฆ่า หรือ กฎแห่งการสะท้อนกลับ จะต้องเป็นไปเช่นเดียวกันกับเหตุที่ทำเอาไว้ คือ เมื่อถึงเวลาที่บาปกรรมนั้นส่งผล ตัวผู้ฆ่า จะต้องได้รับผลร้าย ประสพกับความลำบากเดือดร้อน เจอความวิบัติอุปัทวันตรายต่างๆ โรคภัยเบียดเบียน สูญเสียหรือพลัดพรากจากคนผู้เป็นที่รักทั้งหลายหรือ ทำให้อายุสั้นตายก่อนวัยสมควรเหมือนกัน 
      และเมื่อวิบากกรรมเริ่มเบาบางลงมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะได้รับผลจากวิบากกรรมที่ผิดศีลข้อ1    9 ประการ คือ
      1. เป็นคนทุพพลภาพ
      2. เป็นคนรูปไม่งาม
      3. มีกำลังกายอ่อนแอ
      4. เป็นคนเฉื่อยชา
      5. เป็นคนขี้ขลาด
      6. เป็นคนที่ถูกผู้อื่นฆ่า หรือฆ่าตัวเอง
      7. มักมีโรคภัยเบียดเบียน
      8. ความพินาศเกิดกับบริวาร
      9. อายุสั้น และให้ผลติดต่อกันหลายชาติ


    ผลกรรมที่จะเกิดในชาตินี้ คือ
    1.มักมีปัญหาสุขภาพ ขี้โรค มีโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย รักษายุ่งยาก
    2.มีอุบัติเหตุบ่อย ๆ อาจมีอุปฆาตกรรม คือกรรมตัดรอน ทำให้ตายก่อนอายุขัย
    3.อาจพิกลพิการ มีปัญหาร่างกายไม่สมส่วน ไม่สมประกอบ
    4.กำพร้าพ่อแม่ คนใกล้ตัวโดนฆ่า
    5.อายุสั้น ตายทรมาน ตายแบบเดียวกับที่ไปฆ่าไปทรมานสัตว์ไว้
    6.อัปลักษณ์ มีปมด้อยด้านสังขาร
     แนะนำหนทางทุเลา :
     ตั้งสัจจะว่าจะพยายามไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียน ไม่แกล้ง ไม่กักขัง ว่าง ๆ ก็ไถ่ชีวิตสัตว์ เช่น ไปตลาดซื้อปลาที่เค้ากำลังจ ะขายให้คนไปทำกินให้เราซื้อไปปล่อยในเขตอภัยทาน หรือซื้อยาสมุนไพรยาแผนปัจจุบันไปให้ถวายพระที่วัด หรือไปตามโรงพยาบาลทั้งของคนปกติและของสงฆ์เพื่อบริจาคค่ารักษา หรือรับอุปถัมภ์ค่ารักษาพยาบาลบริจาคเลือดและร่างกาย ให้สภากาชาดไทยหรือตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และอื่น ๆ

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โทษของการเห็นผิด

โทษของการเห็นผิด
     ธรรมเป็นหลักของโลก ผู้เข้าถึงพระธรรม คือผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาทรงเข้าถึงความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า  เพราะได้บรรลุธรรมอรหัต จึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ ล้วนออกมาจากกลางธรรม ที่กลั่นออกมาจากใจที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้ที่จะศึกษาวิชชาในทางพระพุทธศาสนาได้ดี ต้องเป็นผู้ที่มีใจหยุดนิ่งสะอาดบริสุทธิ์ จึงจะเข้าถึงธรรมะบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า  
                         “นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ    เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ 
                          ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ    ยถยิทํ มิจฺฉาทิฏฺฐิ
                          มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ     ภิกฺขเว วชฺชานิ 
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมสักอย่างหนึ่ง ที่มีโทษมากเหมือนอย่างมิจฉาทิฎฐิเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฎฐิเป็นอย่างยิ่ง”
     เนื่องจากจิตที่ตั้งไว้ผิด จึงส่งผลให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด ก่อให้เกิดผลเสียทั้งตนเองและผู้อื่น คนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ นอกจากจะพาตนเองไปสู่ความหายนะแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนและเสื่อมเสียไปด้วย การจะพิจารณาว่าใครเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่นั้น ก็ดูได้ง่ายๆ ว่า เขาเชื่อในเรื่องของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไหม เชื่อว่านรกสวรรค์ โลกนี้โลกหน้า มีจริงไหม เชื่อว่าบิดามารดามีพระคุณจริง การบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ทานที่ทำไปแล้วย่อมให้ผลเสมอ การปฏิสันถารดีจริง และสมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหมดกิเลส เช่น พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า มีจริงไหม อย่างนี้เป็นต้น
     ปัจจุบันนี้ มีหลายคนยังไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม บางครั้งจึงเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี จนมีสํานวนภาษิตติดปากกันว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” สาเหตุเพราะไม่เข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษอย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ประมาท แล้วถือเอาการกระทำที่ตนเองได้รับผลประโยชน์ในปัจจุบัน ไปทำเรื่องไม่ดีผิดศีลธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมามากมาย ก็เลยเหมาเอาว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ดีแล้วถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งทำบาปอกุศลเพิ่มขึ้น โดยไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งข้างหน้าเขาจะต้องพบกับความหายนะในที่สุด 

เหมือนในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสร้างบารมี  เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ถูกพระราชารับสั่งให้ปลดออกจากตำแหน่งหญิงงามเมือง ต้องระเหเร่ร่อนไปตามทางของตน 
 
     เมื่อผ่านเข้าไปในพระราชอุทยาน ได้พบพระดาบสรูปหนึ่ง กำลังนั่งสมาธิ(Meditation)เข้าฌานอยู่บนแผ่นศิลาด้วยอาการสงบสำรวม แต่เนื่องจากนางเป็นคนมีความเห็นผิด และกำลังขัดเคืองขุ่นมัว แทนที่จะมีความเลื่อมใสกลับมีความคิดวิปริตว่า “ดาบสผู้นี้นุ่งห่มปอนๆ ผ้าผ่อนดูแล้วสกปรกเศร้าหมอง  แถมยังหยิ่งนั่งนิ่งไม่ไหวติง เห็นแล้วไม่เป็นมงคลเลย สงสัยที่เราถูกปลดออกจากตำแหน่ง เป็นเพราะดาบสรูปนี้แน่” 
 
     เมื่อมีความเห็นผิดจึงคิดกระทำผิดๆ ได้ถ่มน้ำลายลงบนศีรษะของพระดาบส และเอาไม้ชำระฟันที่ใช้แล้วโยนใส่ท่าน ส่วนตนเองไปอาบน้ำในสระ  แล้วหลงปลื้มใจว่า เราจัดการกับคนกาลกิณีแล้ว เสนียดจัญไรจะได้หมดไป ต่อมาพระราชาระลึกถึงนาง ก็พระราชทานตำแหน่งหญิงงามเมืองคืนให้ นางจึงหลงเข้าใจผิดหนักเข้าไปอีกว่า ที่ได้ยศกลับคืนมานั้น เป็นเพราะไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส  
 
     วันหนึ่ง พระราชาทรงพิโรธปุโรหิต จึงรับสั่งให้ปลดออกจากตำแหน่ง ปุโรหิตจึงไปสอบถามหญิงงามเมืองว่า ครั้งก่อนทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งกลับคืนมา นางแนะนำว่า ในพระราชอุทยานมีดาบสกาลกิณีอยู่องค์หนึ่ง ให้ไปถ่มน้ำลายลงบนศีรษะพระดาบสนั้น แล้วจะได้ตำแหน่งกลับคืนมา ปุโรหิตเองเป็นคนมีความเห็นผิดเช่นเดียวกัน ก็เห็นพ้องด้วย และไปทำตามที่นางบอก จากนั้นอีกไม่กี่วัน พระราชาทรงหายกริ้วปุโรหิต จึงคืนตำแหน่งให้  ปุโรหิตเลยยิ่งเข้าใจผิดไปใหญ่ว่า ที่ได้ฐานันดรคืนมา เพราะไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส 
 
     ต่อมาเกิดการจลาจลที่ชายแดน พระราชาจึงจัดเตรียมกองทัพ เพื่อออกไปปราบปราม ด้วยความหวังดีอยากให้พระราชารบชนะ ปุโรหิตก็กราบทูลตามที่ตนเองเข้าใจว่า "ถ้าหากพระองค์ทรงประสงค์ชัยชนะ ก็ขอเชิญเสด็จไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส แล้วจะมีชัย" พระราชาก็ทำตาม อีกทั้งรับสั่งให้ข้าราชบริพาร รวมทั้งทหารทั้งหมด ไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส และทิ้งไม้สีฟันไว้บนชฎา ทำให้พระดาบสเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำลาย และไม้สีฟันเต็มไปหมด แต่พระดาบสไม่ได้สนใจสังขารร่างกาย และท่านก็ไม่ได้อดทนอะไร เพราะท่านมีความสุขอยู่ในฌานสมาบัติ จึงไม่มีใจโกรธเคืองแต่อย่างใด  
 
     แต่เสนาบดีผู้มีคุณธรรมมาพบเข้า เห็นว่าการประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงไปนมัสการพระดาบส แล้วช่วยชำระล้างร่างกายให้ท่าน ชโลมผิวกายด้วยน้ำหอมอย่างดี แล้วพนมมือเรียนถามท่านด้วยความเคารพนอบน้อมว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ พวกคนพาลโง่เขลาไม่รู้คุณของท่าน ได้ประทุษร้ายต่อท่าน ด้วยกรรมหนักเช่นนี้ ไม่ทราบว่าจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขา”
 
     พระดาบสบอกว่า “ท่านเสนาบดี ความคิดประทุษร้ายตอบ ไม่ได้มีอยู่ในใจของอาตมาภาพเลย แต่ว่าเหล่าเทวดาฟ้าดินพิโรธแล้ว นับจากนี้ไปอีก ๗ วัน เหล่าเทวดาจะทำให้ทั้งแว่นแคว้นถึงความพินาศหมด” และแนะนำให้เสนาบดีพาครอบครัวอพยพออกไปนอกแว่นแคว้น เสนาบดีได้ฟังก็ตกใจ รีบไปทูลให้พระราชาทรงทราบ แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล
 
     เมื่อพระราชาไม่เปลี่ยนพระทัย เพราะถูกอวิชชาครอบงำจนใจมืดบอด  ท่านเสนาบดีจึงได้แต่พาบุตรและภรรยาของตนหนีไปสู่แคว้นอื่น ส่วนพระดาบสได้กลับไปอยู่กับหมู่คณะของตน ฝ่ายพระราชาผู้มีความเห็นผิด ทรงยกทัพออกไปปราบจลาจลที่ชายแดน ทรงมีชัยชนะข้าศึก จากนั้นจึงได้เสด็จกลับสู่พระนคร เมื่อถึงเวลา เทวดาก็บันดาลให้ฝนตก มหาชนต่างพากันดีใจ คิดว่าเทวดาคงมาร่วมชื่นชมในชัยชนะด้วย สักครู่เทวดาบันดาลฝนเงินฝนทองให้ตกลงมา มหาชนยิ่งดีใจไชโยโห่ร้องกันใหญ่ สักพักเทวดาก็บันดาลฝนรัตนะให้ตกลงมามากมาย ทั้งพระราชาและมหาชนต่างเกิดความปลื้มปีติ พากันเก็บรัตนะของมีค่า และชื่นชมอนุโมทนาบาป ที่ได้ถ่มน้ำลายรดพระดาบส 
 
     แต่ยังไม่ทันจะได้เก็บหมด เทวดาก็บันดาลฝนอาวุธ ทั้งที่มีคมข้างเดียวและมีสองคม ตกลงมาเชือดเฉือนร่างกายพวกคนใจบาป แล้วก็มีฝนถ่านเพลิงตกลงมาเผาไหม้ทุกคนให้ถึงแก่ความตาย และฝนทรายละเอียดก็ตกลงมาทับถมมนุษย์เหล่านั้น ในที่สุดบ้านเมืองก็ถึงแก่ความพินาศย่อยยับอย่างน่าเวทนา พวกเขาละโลกไปแล้ว ต้องไปทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ
  
     เรื่องบาปกรรมมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ถึงอย่างไรสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ ถ้าหากเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดต่อพระรัตนตรัย และประทุษร้ายต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องได้รับผลกรรมที่แสนสาหัส เมื่อละโลกแล้ว ก็ไปสู่ทุคติภูมิ
     เพราะฉะนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไป ก่อนจะเชื่อใคร ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้ดี อย่าตื่นข่าวลือ ให้ใคร่ครวญด้วยเหตุและผล เราจะได้ไม่ผิดพลาดในชีวิต ให้ปรับความเห็นให้ถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ จะเห็นถูกต้องได้ ต้องเห็นที่ตรงกลาง จะเห็นธรรมภายในด้วยใจที่บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ถ้าเห็นธรรมได้ จึงจะรู้เห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง ดังนั้น อย่าได้ประมาทในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง หมั่นประคับประคองใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา แล้วเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มารักษาศีล 5 กันเถอะ

ศีล 5 ศีลห้าคืออะไร
มารักษาศีล 5 กันเถอะ..

ศีล 5 คืออะไรศีล 5 คืออะไร

ศีล 5 ศีลห้าคืออะไร หมายถึงอะไร

     ศีล หมายถึง ความตั้งใจที่งดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต และสิ่งที่ไม่ดีทุกประการ ดังที่พระสารีบุตรได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า “ศีล คือ เจตนา ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ)”

ศีล 5 คืออะไร ?


        ศีล คือ “ เจตนา” ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)

        ศีล 5 เป็นสิ่งที่มนุษย์ช่วยกันบัญญัติขึ้นมา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จากสามัญสำนึกที่รู้ว่า เมื่อเรามีความรักตนเอง ต้องการความสุข ความปลอดภัยในชีวิต คนอื่นก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา ด้วยเหตุนี้แม้ในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น ศีล 5 ก็มีอยู่แล้ว



     แม้ศีลจะมีหลายความหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เจตนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า

      ศีล คือ ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ

        มนุษย์ แปลว่า สัตว์ที่มีจิตใจสูง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล

        มนุษย์มีเหตุ  มีผลรู้จักยับยั้งชั่งใจ แต่สัตว์ไม่มีสิ่งนี้เมื่อใดที่มนุษย์มีศีล 5 ครบ ความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ กายก็เป็นปกติ วาจาก็ปกติ ใจก็ปกติ เมื่อไรศีล 5 ขาด ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง
     
        ศีล 5 จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
โดยแต่ละข้อสามารถแบ่งแยกความเป็นมนุษย์กับสัตว์ได้ดังนี้

 
ศีล 5 ข้อที่ 1
        ข้อ 1  ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

        ตามปกติมนุษย์เราไม่ฆ่ากัน ต่างจากพวกสัตว์ เช่น เสือ สิงโต เวลาหิวก็ไล่ล่าสัตว์อื่นกินทันที ศีลข้อ 1 จึงแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ได้อย่างชัดเจน


 
ศีล 5 ข้อที่ 2
       
        ข้อ 2 ตั้งใจงดเว้นจากการลักขโมย

        ธรรมชาติของมนุษย์จะไม่ลักขโมยทรัพย์สินของใครเพราะมนุษย์มีความรู้เรื่อง กรรมสิทธิ์ ว่านี่ของเขา นี่ของเรา แต่สัตว์ไม่รู้ เช่นเวลาสุนัขเห็นแมวกินปลาอยู่  ถ้าอยากได้มันจะเข้าไปแย่งเลย ดังนั้นถ้าใครลักขโมย จี้ปล้นทรัพย์สินของคนอื่น ก็แสดงว่าขณะนั้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาสูญเสียไปแล้ว
 

ศีล 5 ข้อที่ 3

 
        ข้อ 3 ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติในกาม

        ปกติมนุษย์รู้จักควบคุมความต้องการของตัวเอง รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ต่างจากสัตว์ เช่น สุนัขเมื่อถึงคราวฮอร์โมนเพศทำงาน มันจะกัดแย่งตัวเมีย แต่มนุษย์ปกติจะไม่เป็นเช่นนั้น


 
ศีล 5 ข้อที่ 4

 
       ข้อ 4 ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ  พูดคำหยาบ คำส่อเสียด เพ้อเจ้อ

        ปกติมนุษย์จะไม่หลอกลวงกันและไม่เบียดเบียนคนอื่น ด้วยคำพูด ต่างจากสัตว์ เช่น สุนัขที่อยู่ในบ้าน พอมีสุนัขตัวอื่นหรือมีคนเดินผ่านมา มันจะเห่าทันทีเลย แต่มนุษย์เราไม่เป็นเช่นนั้น อยู่ดีๆ เราจะไม่ว่ารึว่าด่าใคร


 
ศีล 5 ข้อที่ 5

 
        ข้อ 5 ตั้งใจงดเว้นจากดื่มสุราเมรัย อันเป็นต้นเหตุแห่งความประมาท

        ปกติสัตว์ใหญ่มีกำลังมากกว่ามนุษย์ แต่บังคับทิศทางไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีสติควบคุม ดังนั้นสัตว์จึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เกิดเป็นคุณงามความดีอะไรได้แต่ มนุษย์มีสติควบคุมการกระทำ ทำให้สามารถเปลี่ยนกำลังกายมาเป็นการกระทำความดีได้ แต่เมื่อใดที่มนุษย์ดื่มสุรา ของมึนเมา หรือยาเสพติดเข้าไป ก็จะขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจทำให้สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้ ศีลข้อ 5_นี้ จึงเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่ขาดสติสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่างและผิดศีลข้ออื่นได้ทุกข้อ

Credit : www.dmc.tv

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไม่สายที่จะเริ่ม

 
 "กราบพระสิลูก ไหว้พระสิลูก" คำนี้ผมมักบอกลูกสาวอยู่บ่อยๆ และตัวผมเองก็ถูกสอนมาแบบนี้ตั้งแต่เล็ก จนเมื่อโตมาผมไม่เคยสนใจเลยว่าผู้ที่ผมกราบไหว้นั้น เขามีอะไรดี ผมกราบไหว้เพียงเพราะเขานุ่งห่มผ้าเหลืองเท่านั้นเอง


     อย่าเพิ่งว่าผมเพ้อเจ้อนะครับ จากจุดนี้เมื่อไม่นานมานี้เองทำให้ผมอยากที่จะศึกษา ค้นหาคำตอบให้กับตัวเองครับ ว่าทำไปทำไม

    ผมก็เป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่มีความนับถือและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าครับ จึงอยากเริ่มที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหา แก่นแท้ ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่หลงไปกับความเชื่อและศรัทธาทางที่ไม่ถูกต้อง


     ผมจะลองเริ่มศึกษาดูตามขั้นตอนแบบนี้นะครับ  สำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มเข้าใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มากขึ้นเหมือนผม มาลองเริ่มไปพร้อมๆกันนะครับ

    1) เริ่มต้นศึกษาพระธรรมคือการรู้จักธรรมะก่อน
       มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อความนึงกล่าวว่า
        "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน? 
          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า.
          อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก.
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ ...นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก..." 


   
    2) เมื่อรู้จักธรรมะแล้วก็เริ่มศึกษาพระธรรมคำสอนของพระศาสดา (พระไตรปิฎก)
       ในจุดนี้นั้นค่อนข้างเยอะมาก เพราะมีหลายเล่ม หลายบท เราก็เลือกศึกษาเรื่องที่เราสนใจก่อนเป็นขั้นๆไปครับ
    
    3) เริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อลด ละ กิเลส
        - การให้ทาน
         - รักษาศีล 5
         - เจริญภาวนา วิปัสนา

"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"